Responsive image Responsive image

เส้นทางข้าวคร่าว

25 ตุลาคม 2562



เส้นทางข้าวคร่าว
ระยะทางที่ข้าวเดินทางมาถึงจานคนกิน


จากความสงสัย (คร่าว ๆ) ว่ากว่าที่ ‘ต้นข้าว’ จะกลายมาเป็นข้าวสวยร้อน ๆ ที่เรากินกันอยู่ทุกวันมีเส้นทางอย่างไร เราอาจจะเคยรู้ว่าชาวนาปลูกข้าว ขายให้เถ้าแก่โรงสี ถูกแปรรูปเป็นถุงๆ ให้เราเลือกซื้อหา แต่ในระหว่างกระบวนการ ข้าวเหล่านี้ยังต้องผ่านมือใครหรือขั้นตอนอะไร (ที่เราไม่รู้) อีก 

แล้วระหว่างข้าวทั่วไปกับข้าวอินทรีย์ล่ะ เส้นทางของข้าวจะแตกต่างกันอย่างไร กางแผนที่... แล้วมุ่งหน้าไปยังจุดเริ่มต้น ณ ทุ่งนาได้เลย 



ขั้นปลูก 

ข้าวทั่วไป: เน้นปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด จึงประกันความเสี่ยงของธรรมชาติไว้กับสารเคมี เลือกใส่ปุ๋ยเพื่อให้รวงข้าวมีน้ำหนักดี ฉีดยากันแมลงและเชื้อรา ใส่ฮอร์โมนกระตุ้นให้เม็ดข้าวสวย และใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืช

ข้าวอินทรีย์: เน้นปลูกเพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัยที่สุด ปลอดภัยจากสารเคมีทุกชนิด จึงเลือกใส่ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ ยังคงลงแรงถอนวัชพืชแทนการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีสารตกค้าง รักษาระบบนิเวศและสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมแมลงและศัตรูข้าวแทน



ขั้นเก็บเกี่ยว

ข้าวทั่วไป: ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยใช้คนหรือรถเกี่ยวนวดข้าว ตากข้าวสารที่ลานตากเพื่อไล่ความชื้น แล้วบรรทุกมาขายยังท่าข้าว โดยจะมีคนกลางที่จัดการส่งข้าวไปยังโรงสี ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าหรือพ่อค้าข้าวเปลือกในแบบเอกชน หรือกลไกรับซื้อข้าวของภาครัฐ ข้าวที่ความชื้นสูงจะได้ราคาต่ำกว่า 

จากนั้นจะมีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาจัดการกระจายข้าวสารอีกทอด คือหยงหรือคนกลางที่รวบรวมและประสานงานข้อมูลในการซื้อขายข้าวสารระหว่างโรงสีกับผู้ส่งออกหรือผู้ค้าส่ง (หยงมักมีรายได้จากการขายข้าวราว ๆ 0.6-1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าข้าว) 

ข้าวอินทรีย์: ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยใช้คนหรือรถเกี่ยวนวดข้าว ตากข้าวสารที่ลานตากเพื่อไล่ความชื้น แล้วเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเองหรือของกลุ่ม



ขั้นสี

ข้าวทั่วไป: นำข้าวเปลือกไปอบให้แห้งแล้วสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีการขัดขาวและขัดมันเพื่อให้ข้าวสีสวยน่ากิน บางแห่งแต่งกลิ่นเพื่อให้ข้าวหอม บางแห่งเพิ่มวิตามินเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และบางแห่งอาจใช้สารรมข้าวเพื่อป้องกันมอดเพื่อยืดอายุข้าวสารให้อยู่ในเชลฟ์ค้าปลีกได้นานขึ้น

ข้าวอินทรีย์: ชาวนาอินทรีย์ส่วนใหญ่จะนำข้าวไปสีที่โรงสีข้าวชุมชนหรือโรงสีข้าวอินทรีย์โดยเฉพาะซึ่งเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก สีได้ปริมาณไม่มาก เน้นสีเมื่อมีการสั่งซื้อเท่านั้น เพราะเก็บเป็นข้าวเปลือกดีกว่าข้าวสารซึ่งจะมีมอดตามธรรมชาติ 

ส่วนแกลบจากการสีข้าวอินทรีย์ สามารถนำไปใช้ปรับสภาพดินในแปลงเกษตรอินทรีย์หรือปศุสัตว์อินทรีย์ได้อีกทอด สร้างวงจรอินทรีย์ที่ปลอดภัยให้กว้างขวางขึ้น



ขั้นบรรจุ

ข้าวทั่วไป: ใส่ถุง ติดฉลาก ตรวจสอบคุณภาพของข้าวสารหลังจากบรรจุเสร็จแล้ว บางแห่งรมด้วยสารเคมีที่ถุงเพื่อป้องกันมอดอีกทีด้วย

ข้าวอินทรีย์: ใส่ถุง ติดฉลาก นิยมบรรจุในถุงสุญญากาศขนาดเล็กสำหรับขายปลีก


ขั้นขาย

ข้าวทั่วไป: วางขายทั่วไปตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ซื้อหาง่าย ราคาถูก มีโปรโมชั่นลดราคาตามวิถีทางการตลาด 

ข้าวอินทรีย์: ชาวนารวมกลุ่มกันมาขายเองตามตลาดอินทรีย์ หรือขายผ่านแบรนด์ข้าวอินทรีย์ หาซื้อยากกว่า ราคาแพงกว่าข้าวทั่วไปเพราะเน้นการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (Fairtrade)



ขั้นกิน

ผู้บริโภคเป็นคนเลือก 

ข้าวทั่วไป: ข้าวที่หาซื้อง่าย สะดวกสบาย แต่ไม่แน่ใจเรื่องสารเคมีที่ตกค้างในข้าว สะสมอยู่ในตัวเกษตรกรผู้ผลิต และปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม 

ข้าวอินทรีย์: ข้าวปลอดภัยที่มั่นใจว่าไม่มีสารเคมีปนเปื้อนทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม บ้างเป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่เกษตรกรอินทรีย์อนุรักษ์ไว้ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองเพื่อประกันราคาอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบกันในกระบวนการกลุ่มเพื่อเป็นมาตรฐานให้คนกินสบายใจ 

___________
เรื่อง: มานู สะตี
ภาพ: Parinda



เรื่องที่น่าสนใจ

กินข้าวขาวอย่างเดียวมันธรรมดาไป! ทุกวันนี้เราเชื่อว่าแทบทุกบ้านมีข้าวสารหลากสีไว้ติดครัว

ในแบบเรียนภาษาไทย เราได้อ่านเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของผืนนาผ่านตัวสะกดง่าย ๆ

ชวนเด็กน้อยห่อของขวัญปีใหม่ ให้ผู้ใหญ่ยิ้มกว้าง :)

ปีใหม่ ทำไมต้องกิน ‘ข้าวใหม่’?

ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน?