Responsive image Responsive image

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ไหน?

23 เมษายน 2564

ข้าวศาลานา มาจาก ‘นา’ ที่ไหน?



แม้จะกินข้าวกันทุกวัน แต่ยากที่เราจะได้รู้ว่าข้าวที่เรากินมาจากไหน ความสัมพันธ์ระหว่างเราและข้าว จึงเป็นแค่อาหารอิ่มท้องที่จบกันเป็นมื้อ ๆ ไป 

เพราะอยากสานสัมพันธ์ระหว่างคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม ข้าวทุกสายพันธุ์ที่ศาลานารวบรวมมา จึงเกิดจากการจับมือทำข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรที่ยึดมั่นในวิถีอินทรีย์ หวังดีกับคนกินและใจดีกับสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน และมีกระบวนการตรวจแปลงภายใต้มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม Salana PGS ซึ่งนอกจากศาลานาจะรับซื้อข้าวแบบผูกปิ่นโตกันไปนาน ๆ ในราคาที่เป็นธรรม ยังเข้าไปส่งเสริมและร่วมพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การผลิตปลอดภัย ได้ผลผลิตที่ดีกว่า และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นด้วย 



ด้วยความสัมพันธ์ที่มองเห็นความยั่งยืนระยะยาวร่วมกันนี้ นอกจากคนกินจะได้กินข้าวดีที่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูเมื่อไม่ต้องสะสมสารเคมี ชาวนาเหล่านี้ยังได้ยิ้มกว้างกว่าเดิม เพราะข้าวที่พวกเขาปลูก มี ‘คุณค่า’ มากกว่าที่เคย

ข้าวศาลานา มาจากนาที่บ้านโนนยาง ยโสธร
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง หมู่ 17 ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิแดงกลิ่นรสนุ่มหอมเป็นเอกลักษณ์ให้ศาลานา คือกลุ่มเกษตรกรที่เริ่มต้นวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2526 โดยในระยะแรกมีมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรทางเลือกและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้การสนับสนุน กลายเป็นกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนที่แข็งแรง บริหารจัดการเองได้อย่างเป็นระบบ มีการแปรรูปและทำตลาดที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังฟื้นฟูและพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองได้มากกว่า 80 สายพันธุ์

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ตำบลทมอ สุรินทร์ 
อีกกลุ่มที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิแดงให้กับศาลานา คือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ จ.สุรินทร์ ที่เริ่มต้นรวมตัวสมาชิกชาวนา 20 ชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ลงมือปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี และทดลองปลูกพืชผสมผสานและเลี้ยงสัตว์ไปพร้อม ๆ กัน จนทุกวันนี้ ผืนนากว่า 2,000 ไร่ ของสมาชิก 60 ครอบครัว มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลที่ทำตลาดได้ดีทั้งในและต่างประเทศ 

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ห้างฉัตร ลำปาง
ข้าวหอมมะลิ 105 ที่สุดยอดทั้งความนุ่มและความหอม ข้าวหอมมะลิแดงมากวิตามิน และข้าวมะลินิลสุรินทร์สีม่วงเข้มเต็มประโยชน์ มาจากนาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ที่แม้จะเพิ่งเริ่มรวมตัวกันทำนาอินทรีย์ได้ไม่นาน แต่จุดเด่นของกลุ่มนี้คือเน้นเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน (organic matter) เพื่อไม่ต้องพึ่งปุ๋ยพึ่งยาเคมี และช่วยฟื้นฟูผืนนารวมกว่า 344.10 ไร่ จาก 53 ครอบครัวให้กลับมามีชีวิตในดินอีกครั้ง



ข้าวศาลานา มาจากนาที่บ้านน้ำอ้อม ร้อยเอ็ด 
กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านน้ำอ้อมอยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พลิกฟื้นผืนดินที่มีภาพจำว่าแห้งแล้งกันดารให้กลายเป็นนาสีเขียวปลอดเคมี โดยศาลานาได้ร่วมรับซื้อข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพดีจากนากว่า 630 ไร่ของชาวนา 44 คนอย่างต่อเนื่อง และส่งต่อข้าวดี ๆ ให้กลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดลัอมได้อิ่มท้องและอิ่มใจ

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ตำบลโพธิ์ทอง ร้อยเอ็ด
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลโพธิ์ทอง เริ่มรวมตัวกันราว ๆ 3 ปีจากการได้อบรมเรื่องการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์กับทางอำเภอ และเริ่มเห็นเส้นทางในการพัฒนาต่อ จึงช่วยกันทำโรงปุ๋ยหมักอินทรีย์ไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนนาให้เป็นอินทรีย์ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน ชาวนากว่า 50 ชีวิต ได้ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ส่งให้กับทางศาลานา รวมทั้งส่งจำหน่ายกับสหกรณ์ข้าวอินทรีย์ประจำจังหวัด และโรงพยาบาลเสลภูมิเพื่อให้คนป่วยได้กินข้าวปลอดภัยด้วยอีกทางหนึ่ง

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ทุ่งใหญ่ พิจิตร
ความพยายามในการขับเคลื่อนจังหวัดพิจิตรให้เป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ของศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะทำให้สมาชิกกว่าพันครอบครัวเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ ศูนย์นี้ยังก่อตั้งวิชชาลัยชาวนาถึง 4 แห่ง และที่วิชชาลัยชาวนาทุ่งใหญ่ มีสมาชิก 15 ครอบครัวร่วมกันปลูกข้าวปทุมธานี 1 และ กข 43 ผูกปิ่นโตส่งให้กับศาลานา แม้จะไม่ใช่ข้าวหอมมะลิยอดนิยม แต่ศาลานาก็อยากสนับสนุนนาอินทรีย์ในพื้นที่ภาคกลางที่เหมาะจะปลูกข้าวชนิดนี้เช่นเดียวกัน



ข้าวศาลานา มาจากนาที่แหลมบัว นครปฐม
ข้าวหอมมะลิแดงจากนาอินทรีย์ของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างป๊อป-ณรงค์ กลิ่นถือศีล ที่เปลี่ยนจากการทำนาเคมีจ๋าไปสู่นาอินทรีย์เต็มรูปแบบ นอกจากจะทำให้เขาค่อย ๆ ปลดหนี้ให้ครอบครัวได้สำเร็จ ยังพลิกฟื้นผืนนา 60 ไร่ให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้น มีการทำบ่อปลาและปลูกผลไม้เป็นแนวกันชนเคมีจากแปลงรอบข้าง รวมทั้งยังก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.แหลมบัว) จ.นครปฐม เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และร่วมกับศาลานาและกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง - ลานตากฟ้า ทำกิจกรรมอาหารปลอดภัยหัวใจอินทรีย์ในโรงเรียน ให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ได้ปลูก ปรุง และชวนพ่อแม่เปลี่ยนแปลงสู่วิถีอินทรีย์ไปด้วยกัน

ข้าวศาลานา มาจากนาที่คลองนกกระทุง นครปฐม
กลุ่มข้าวห้าบ้านจาก 5 ครอบครัว ที่เริ่มต้นกับโครงการศาลานาที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทำโครงการเกษตรระบบอินทรีย์เมื่อ พ.ศ. 2559 สู่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลคลองนกกระทุง จ.นครปฐม ที่แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีสมาชิกไม่มากนัก แต่ก็เน้นปลูกผลผลิตมีความหลากหลาย หาวิธีแปรรูปหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ อีกทั้งยังรวมกลุ่มกันตรวจแปลงภายใต้มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม Salana PGS และทำกองทุนข้าวเปลือกอินทรีย์ ซึ่งศาลานาได้ร่วมอุดหนุนข้าวปทุมธานี 1 ของกลุ่มด้วยการรับซื้ออย่างต่อเนื่อง และร่วมกันขับเคลื่อนให้กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ยังคงวิถีอินทรีย์ได้ในระยะยาว

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ทัพหลวง นครปฐม
อีกกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่ศาลานารับซื้อข้าวปทุมธานี 1 และข้าว กข 43 ต่อเนื่อง คือศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ จ.นครปฐม ที่เริ่มต้นโดยอรุณี พุทธรักษา ชักชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อินทรีย์มาทำเกษตรปลอดสารพิษจริงจัง ทั้งปลูกข้าวและผลผลิตปลอดภัยจากพื้นที่ ส่งออกไปยังโรงแรม ร้านอาหาร และออกร้านตลาดออร์แกนิคเพื่อสื่อสารเรื่องอาหารปลอดภัยให้กับคนเมืองมากขึ้น ในขณะที่สมาชิกในกลุ่มก็มีรายได้ที่ดูแลครอบครัวได้จริงด้วย 



เรื่องที่น่าสนใจ

ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง !

เป็นเรื่องปกติที่ระบบย่อยอาหารคนเราจะเริ่มถดถอยไปตามวัย บางครั้งทำให้ความอยากอาหารลดลง

เปิดกระสอบข้าวสารคุยกัน ในร้านขายข้าวที่เรา (เคย) คุ้น

Rice O’ Clock เมนูข้าว ๆ เช้ายันเย็น ของคนกินข้าวสีเข้ม

กินข้าวขาวอย่างเดียวมันธรรมดาไป! ทุกวันนี้เราเชื่อว่าแทบทุกบ้านมีข้าวสารหลากสีไว้ติดครัว