Responsive image Responsive image

ณรงค์ กลิ่นถือศีล l ชาวนาผู้ใส่ยีนส์ปลดหนี้ และเปลี่ยนผืนนาให้ปลอดเคมีแบบไม่เลอะโคลน

11 กุมภาพันธ์ 2562

คุยกับภาคีเลือดใหม่ของโครงการศาลานาที่ทำนาเป็น ทำนาดี และทำนาเพื่อแบ่งปัน



ชายหนุ่มผู้สวมเสื้อเชิ้ต นุ่งกางเกงยีนส์ และใส่รองเท้าผ้าใบลงมือพับขากางเกงขึ้นเล็กน้อย ก่อนจะก้าวขึ้นไปยืนบนเครื่องมือที่หน้าตาคล้ายเครื่องจักรพ่วงสกี เมื่อกดเดินเครื่อง เครื่องมือแปลกตาที่ว่าก็พาเขาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าบนพื้นดินอุดมสมบูรณ์

แม้ขัดกับภาพจำสักหน่อย แต่ตรงหน้าเราคือ ‘ชาวนา’ ที่กำลัง ‘ไถนา’ จริง ๆ เพียงแต่แทนที่จะลุยโคลนใช้เครื่องไถนาทั่วไป เขาใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘สกีเลน’ ซึ่งช่วยให้คนในนาสะดวกขึ้นรวมถึงไม่ต้องเลอะเทอะเหมือนก่อน

และนี่คือชีวิตโดยทั่วไปของป๊อป-ณรงค์ กลิ่นถือศีล ชาวนารุ่นใหม่ของตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่ทำนาอย่างคนทำเป็น และเลือกเส้นทางที่ต่างจากพี่น้องเกษตรกรรอบตัว นั่นคือ การทำนาด้วยวิถีอินทรีย์

ป๊อปเล่าว่าชีวิตเขาเริ่มต้นด้วยฐานะลูกชาวนา เพราะบ้านมีที่นาและทำนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แต่แม้มีสายเลือดชาวนาเต็มเปี่ยม ป๊อปก็ไม่เคยข้องแวะกับการทำเกษตรของครอบครัว ชายหนุ่มจบการศึกษาชั้นปวช. จากสาขาประยุกต์ศิลป์และเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ   

กระทั่งพ.ศ.2547 หนุ่มสายศิลปะจึงตัดสินใจเริ่มต้นทำนาที่ผืนนาหลายสิบไร่ของครอบครัว ไม่ใช่เพราะเขาหลงรักการปักดำต้นข้าวเขียวชอุ่ม แต่ด้วยเหตุผลที่หนักอึ้งกว่านั้น
“ที่เราลงมาทำเกษตรก็เพราะที่บ้านเป็นหนี้เป็นสิน” ป๊อปบอก แล้วอธิบายต่อว่าหนี้ก้อนนี้เกิดจากการที่แม่สนใจลงมือทำเกษตรแต่ไม่เชี่ยวชาญมากพอ ทั้งการเลี้ยงหมูและทำนาที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจนผลผลิตเสียหายปีแล้วปีเล่า 

“ภูมิประเทศของที่นี่ทำให้นาเราเป็นนาลุ่มที่ดินไม่เคยแห้ง เวลาน้ำท่วมก็ท่วมหมด แล้วเราก็ไม่ได้วางแผน ไม่รู้วิธีการเอาน้ำออกหรือเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิต เทคโนโลยีตอนนั้นก็ยังไม่ทันสมัย ยังใช้คนเกี่ยวข้าว พอน้ำท่วมข้าวล้มนี่หมดสิทธิ์ ต้องปล่อยทิ้งเลย เป็นแบบนี้เกือบทุกปี แล้วทั้งที่รู้ว่าปีหน้าหนี้จะเพิ่มก็ต้องทำนา เพราะหวังว่าปีหน้าจะไม่เป็นแบบนี้”  



รู้ตัวอีกที บ้านของป๊อปจึงเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบถึงล้านกว่าบาท ซึ่งถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่สำหรับครอบครัวเกษตรกร และเมื่อไม่มีเงินใช้คืน เจ้าหนี้นอกระบบก็เตรียมขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องเพื่อจะยึดที่นาไป

ทั้งครอบครัวจึงต้องรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากรวบรวมเงินจากพี่น้องเพื่อใช้หนี้นอกระบบเป็นอันดับแรก ทุกคนก็มองหาหนทางปลดหนี้ต่อ และเมื่อพี่สาวไม่อยากให้แบ่งขายที่นาเพราะอยากรักษาผืนดินของปู่ย่าไว้ ทางแก้ปัญหาจึงมาลงเอยที่การหวนสู่ท้องนาของชายหนุ่มผู้ไม่เคยทำนาอย่างป๊อป

ด้วยความเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจอยากทำทุกอย่างให้ดี การทำนาของชาวนามือใหม่คนนี้จึงหมายถึงการหาความรู้เพิ่มเติม นอกจากรับฟังสิ่งที่ผู้เคยทำนามาก่อนบอกสอน ป๊อปศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง รวมถึงเข้าไปหาความรู้ที่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ข้าวชุมชนแหลมบัวที่จัดอบรมเรื่องการทำนา

“ต้องศึกษา ไม่ใช่ว่าทำตามกัน” ป๊อปยืนยัน “ถ้าเชื่อคนอื่นมันก็ได้แค่เชื่อเขา แต่เราจะทำยังไงให้ทำเองได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องไปใช้จมูกคนอื่นเขาหายใจ เราต้องช่วยเหลือตัวเองได้ ทำเองให้เป็นทุกอย่าง” 

นอกจากเพิ่มความรู้การทำนาตามวิธีปกติ ต่อมาป๊อปก็ได้รับการส่งไปเข้าโครงการอบรมด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ของเดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนาซึ่งไม่ใช่เพียงเชี่ยวชาญแค่เรื่องการทำนา แต่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาแบบอินทรีย์ที่ไม่พึ่งพาสารเคมี การให้ความรู้ของอาจารย์เดชาทำให้ป๊อปที่เคยเชื่อมั่นในการทำนาเคมีซึ่งเน้นผลผลิตสูงเริ่มเปลี่ยนความคิด เมื่อรู้ว่าเกษตรอินทรีย์ช่วยสร้างอาหารปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเมื่อทำอย่างเข้าใจและลงตัว นาอินทรีย์ก็ให้ผลผลิตมากเช่นกัน

ความรู้ทั้งหมดทำให้ชาวนารุ่นใหม่แห่งนครปฐมค่อย ๆ เข้าใจวิธีการทำนาที่ควรเป็น และนำองค์ความรู้มาแก้ปัญหาในนาตัวเองได้ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมนาที่คาราคาซังมานาน

“เราก็ต้องคิดว่าทำยังไงถึงจะให้มันเป็นนาดอนได้ ก็ต้องขุดคันร่องรอบนาเพื่อไว้รับน้ำ พอเวลาน้ำในร่องแห้ง น้ำในนาก็จะต้องแห้งตามเพราะไหลลงมาตกในร่องที่อยู่ต่ำกว่า นาก็จะกลายเป็นนาดอน แล้วเราก็ทำคันนาล้อมรอบนอกให้สูงไม่ให้น้ำไหลเข้ามา พอเราอยากเกี่ยวข้าว ก็ดูดน้ำในร่องให้แห้ง น้ำในนาก็ไหลลงมาหมด รถเกี่ยวข้าวก็ลงนาได้สบาย” 
ในที่สุด การมุ่งมั่นทำนาอย่างรู้จักวางแผน บวกกับการบริหารเงินที่ดีก็ช่วยให้ป๊อปและครอบครัวปลดหนี้ก้อนโตได้หมดภายใน 5 ปี พร้อมกันนั้น นาของเขาก็ค่อย ๆ ลดการใช้สารเคมีจนก้าวสู่นาอินทรีย์เต็มรูปแบบ 



“การที่เราใช้สารเคมีมันส่งผลข้างเคียงแน่นอน เช่น จาม น้ำตาไหล และรู้สึกเพลีย อยากนอนทั้งวัน ใจมันหงุดหงิดตลอดเวลา แล้วพอลงมือทำเองทั้งหมด เราก็จะเห็นว่าเวลาใส่ปุ๋ยมาก ๆ ใช้ยาฆ่าหญ้ามาก ๆ แทนที่ดินจะดำก็ออกเป็นสีแดงเหมือนสนิมเพราะเราใช้ปุ๋ยเยอะจนดินเปรี้ยว เป็นผลเสียกับดิน เราก็คิดว่าถ้าทำลายพระแม่ธรณีก็ปลูกอะไรไม่ขึ้น ถ้าไปทำลายธรรมชาติ ก็ทำอาชีพนี้ที่อาศัยธรรมชาติไม่ได้ 

“เวลาเราคลุกคลีอยู่กับวงการเกษตรอินทรีย์มาก ๆ ก็เหมือนมันค่อย ๆ ซึมเข้ามาในตัวทีละนิดว่า เราเป็นผู้ผลิต การเอาสารพิษให้คนอื่นกินเป็นบาป เพราะคนกินแล้วก็เป็นโรคนั้นโรคนี้ ทำไมเราไม่ทำอะไรให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นเกษตรกร ให้ยืนหยัดพูดได้เต็มปากว่าฉันปลูกอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้คนกิน แล้วผมก็เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ส่งผลต่อภาพใหญ่ เพราะถ้าลูกหลานเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่มีแรงพัฒนาประเทศ ยังไงประเทศก็ไปไม่รอด แต่สุดท้าย อีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงก็ไม่รู้เพราะเราก็ตายไปแล้ว เพราะฉะนั้น ในระยะเวลาที่อยู่ ทำให้ดี ทำหน้าที่ผู้ผลิตให้สมบูรณ์แบบ แค่นั้นจบแล้ว”



ผืนนาเขียวชอุ่มที่ล้อมรอบตัวเราอยู่จึงปราศจากสารเคมีเจือปน ป๊อปบอกว่าสุขภาพของเขาดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตในตอนนี้อาจยังไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงเคมี เพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินถูกใช้มานานทำให้ต้องฟื้นฟูก่อน แต่ผลผลิตไร้สารพิษเหล่านี้ก็ขายได้ในราคาดีกว่าเดิม 

นอกจากนั้น งานที่เคยต้องทำในนาก็น้อยลง เรียกว่าเป็นการทำนาที่อาศัยความรู้และเวลา แต่ไม่ต้องใช้แรงเยอะ และสำหรับใครที่สงสัยว่าการทำนาโดยไม่พึ่งสารเคมีจะจัดการปัญหาที่ต้องเจอะเจอได้อย่างไร ป๊อปก็ยืนยันว่าวิถีธรรมชาติช่วยได้เสมอ

 “อย่างเรื่องแมลง ผมก็ใช้ระบบนิเวศควบคุม เพราะระบบนิเวศของผมไม่เสีย ห่วงโซ่มันสมดุลแล้ว แมลงดีแมลงร้ายก็อาศัยอยู่ตามแปลงนาหรืออาศัยอยู่ตามต้นไม้ที่เราปลูก แล้วก็จะมีตัวที่ดีมากินตัวไม่ดี เป็นห่วงโซ่ ขณะที่ปัญหาโรคพืชก็ไม่มี คือเรารู้ว่าเกษตรกรส่วนมากจะหว่านข้าวหนาแน่น แล้วพอนาอับชื้น แสงส่องไม่ถึง มันก็เป็นที่อาศัยสำหรับแมลงซึ่งนำโรคมา เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ผมก็เปลี่ยนระบบมาเป็นนาโยนที่มีช่องว่าง มีอากาศถ่ายเท แดดส่องถึง พวกแมลงร้าย ๆ ก็ไม่ค่อยอยู่แล้ว เป็นการกำจัดโรคพืชได้” 

และไม่ใช่แค่การทำนาโดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวช่วย องค์ความรู้ที่มีและหมั่นเติมยังทำให้ป๊อปดึงเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อเบาแรงขึ้นอีกขั้น อย่างสกีเลนที่เขาสาธิตให้เราเห็น

การเป็นชาวนาของป๊อปจึงมีทั้งความสบายตัวและสบายใจ อย่างไรก็ตาม ป๊อปวิเคราะห์ให้เราฟังว่าเกษตรกรหลายคนยังเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์แบบเขาได้ยาก เพราะทัศนคติที่ติดการใช้สารเคมี และเพราะปัญหาใหญ่อย่างการไม่มีที่นาของตัวเอง 



“ชาวนามีหนี้สินก็ขายนาเพราะมีหนี้ แล้วมาเช่าที่ของตัวเองทำนา มันน่าเจ็บใจนะ แล้วทีนี้เขาก็จะทำอินทรีย์ไม่ได้เพราะกังวลเรื่องผลผลิต คือถ้าผลผลิตน้อย ค่าเช่าตามหลังมาเลย แล้วถ้าเจ้าของนาไม่ให้ขุดคันนาล้อมก็ขุดไม่ได้ หรือขุดไปแล้ว อีก 2 ปีเขาเอานาคืนก็ต้องจบไป มันมีข้อจำกัดหลายเรื่อง  

“ผมคิดถูกที่ไม่ตัดขายนาไป ก็อยากบอกต่อคนอื่นว่า ถ้าเป็นหนี้ก็ค่อย ๆ ทำไป อย่าคิดว่าขายนาปุ๊บก็ใช้หนี้ได้แล้วหมดกัน มันไม่ใช่ ภาระอย่างอื่นก็ต้องตามมาอีก ไม่มีที่ทำกินก็ต้องเช่า ถ้าเช่าแล้วไม่ได้ผลผลิตก็ต้องเป็นหนี้ซ้ำซาก แต่ถ้าเรายังมีที่อยู่ ถึงขาดทุนยังไงก็เป็นที่ตัวเอง เราก็พัฒนาสินค้าหรืองานให้มันมีมูลค่าได้ เช่น กลับมาทำอินทรีย์ หรือเพาะปลูกแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งแทนที่จะมีข้าวอย่างเดียว พอฤดูทำนาหมดก็ต้องเอาเงินที่ขายข้าวมาใช้จ่าย ก็มีกล้วย มีปลา มีเงินเพิ่มเข้ามาอีก”



ทุกวันนี้ ป๊อปยังคงลงมือทำนาด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยมีแผนในอนาคตที่วาดไว้อีกหลายอย่าง และไม่ใช่แค่มุ่งมั่นทำนาที่ปลอดภัยต่อทั้งตัวเอง คนกิน และสิ่งแวดล้อม เขายังพยายามรื้อฟื้นเอกลักษณ์ความเป็นจังหวัดนครปฐมซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ เช่น การนำข้าวพันธุ์พื้นถิ่นอย่างข้าวหอมนครชัยศรีที่ทั้งหอมอร่อยและมีคุณประโยชน์มากมายมาปลูกที่นาตัวเอง หรือการเลี้ยงเป็ดไข่นครปฐม ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากพื้นที่ ให้กลับมาออกไข่ฟองโตได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ ป๊อปยังตั้งใจส่งต่อความรู้ที่มีให้คนอื่น ชาวนารุ่นใหม่คนนี้เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของตำบลแหลมบัว อีกทั้งยังเข้าร่วมกับศาลานาเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เหล่าเยาวชน

“พอมีความรู้เพิ่มขึ้น ทำแล้วได้ผล เราก็อยากบอกต่อ และมองว่าการให้ความรู้กับเด็กเป็นสิ่งดี เพราะไปบอกคนโต ๆ แล้วเขาไม่เชื่อ” ลุงป๊อปของเด็ก ๆ หัวเราะ “ซึ่งพอมาคุยกับทางศาลานาที่ต้องการคนมีจิตอาสา อยากช่วยเหลือสังคม และให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัย ก็พบว่ามีทิศทางเดียวกัน เด็กในโครงการที่มาก็ชอบเกษตรอินทรีย์มาก บอกว่าจะพาพ่อมาเรียนด้วย สิ่งนี้ก็จุดประกายความหวังในเรื่องคลื่นลูกใหม่ที่จะต้องมาแทนเรา” 



ขณะที่คนทั่วไปยังจดจำว่ากระดูกสันหลังของชาติมีชีวิตที่ยากลำบาก ชาวนาหนุ่มคนหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำนายังมีทางเลือกอื่นที่สว่างสดใสกว่ารออยู่ อีกทั้งมุ่งมั่นชี้เส้นทางนั้นให้คนอื่นได้มาร่วมเดิน   

“ทุกวันนี้ผมทำนาเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อช่วยเหลือ และเพื่อแบ่งปัน” ป๊อปในชุดเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบกล่าวเจตนารมณ์กลางอาณาจักรสีเขียวที่สร้างขึ้นกับมือ

----------------------

เรื่อง: ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ: พิชาญ สุจริตสาธิต

 



เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดกระสอบข้าวสารคุยกัน ในร้านขายข้าวที่เรา (เคย) คุ้น

ชาวนาไทยได้อะไร? เมื่อปลูกข้าวให้ศาลานา

เห็นหนุ่มน้อยจ้ำม่ำยิ้มเก่งที่ชื่อว่า Xzavier (เอ็กซ์ซาเวียร์) เป็นอันต้องกระซิบถามว่ามีเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกยังไง ปรากฏว่าคำตอบที่เราได้นั้นเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ทั้งนั้น

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?

มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกอะไรเราบ้าง?