Responsive image Responsive image

ทำไมต้องมีห้องเรียนศาลานา

15 ตุลาคม 2565

ทำไมต้องมีห้องเรียนศาลานา

ไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์ข้าวที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ในราคาที่เป็นธรรม หรือชื่อบนตราสัญลักษณ์ SALANA PGS ที่ยืนยันมาตรฐานอินทรีย์ที่ปลอดภัย ‘ศาลานา’ ยังเป็นโรงเรียนด้วย!

แม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่มีอาคารหลังใหญ่ มีคุณครูประจำชั้น หรือมีนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่ด้วยการทำงานของศาลานาที่ต้องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น อีกงานสำคัญจึงอยู่ใน ‘ห้องเรียนศาลานา’ หรือห้องเรียนที่สร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการ



เรียนอะไรกันใน ‘ห้องเรียนศาลานา’ ?
ถ้าบอกว่าศาลานาจะไปสอนชาวนาให้ปลูกข้าวก็คงฟังดูแปร่งแปลก แต่บทเรียนที่สอนกันในห้องเรียนศาลานาคือการสร้าง ‘Smart Farmer’ ที่นำเอานวัตกรรมและแนวทางการสร้างต้นแบบธุรกิจสมัยใหม่มาใช้ โดยยึดหลักเกษตรวิถีธรรมชาติ นั่นแปลว่าทั้งเกษตรกรและผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้น ก็สามารถเรียนรู้แนวคิดนี้เพื่อไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองได้ โดย ‘การอบรมหลักสูตรศาลานา’ จะเป็นการเรี่ยนรู้แบบบูรณาการ ที่มาครบทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติผ่านแปลงอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จจริง และภาคประสบการณ์จากวิทยากร



หากยกตัวอย่างรายละเอียดว่าเรียนอะไรกัน ก็ไล่เรียงไปได้ตั้งแต่หลักการออกแบบฟาร์มเบื้องต้นที่ให้ความสำคัญกับดิน น้ำ อากาศ และแสงแดด สร้างระบบเกื้อกูลฟาร์มด้วยธรรมชาติแบบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี เลยรวมไปถึงการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปมาเป็นเครื่องมือ หรือวิธีคิดในการวางแผนธุรกิจ เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการแบบพร้อมลงมือทำจริง

นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่จริง ไปเห็นแปลงอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ (ไม่ใช่แปลงสาธิต) ได้แลกเปลี่ยนกับวิทยากรผู้ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การเป็นผู้ประกอบการ และสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของตนได้จริงด้วย



ห้องเรียนศาลานากว้างแค่ไหน?
ไม่ว่าจะห้องเรียนออกแบบฟาร์ม ห้องเรียนหลักสูตรเพอร์มาคัลเจอร์ หรือวิชาแยกย่อยอย่างเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่อินทรีย์ ก็เป็นตัวอย่างความหลากหลายของหลักสูตรที่ทางศาลานาอยากส่งต่อองค์ความรู้ที่ช่วยต่อยอดให้อาชีพเกษตรกร เติบโตต่อไปมากกว่าภาพจำเดิม ๆ

ซึ่งนอกจากจะสร้าง Smart Farmer ยุคใหม่ไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เรื่องน่าชื่นใจจากศิษย์เก่าของห้องเรียนนี้ มีทั้งเกษตรกรที่เคยปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ยังมีสารเคมีสังเคราะห์เจือปน เมื่อได้เรียนรู้หลักสูตรที่เกื้อกูลผลผลิตด้วยแนวคิดธรรมชาติ เขาก็ปรับเปลี่ยนฟาร์มผักน้ำเป็นการปลูกสลัดอินทรีย์บนดินไปพร้อม ๆ กับเปิดร้านอาหาร นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก ลดความเสี่ยงในการบริโภคสารเคมีจากผลผลิต ยังเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้ด้วย

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่มากกว่าการต่อยอดอาชีพ ก็มีคุณครูที่มาเรียนหลักสูตรนี้แล้วนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปถ่ายทอดในโรงเรียนของตัวเองต่อ พัฒนาเป็นหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ และสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยที่ได้อิ่มกันในชุมชน



เพราะความรู้ ยิ่งส่งต่อยิ่งงอกงาม ความตั้งใจของศาลานาที่จะขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์จึงไม่ใช่ความฝันที่ไกลเกินจริง



เรื่องที่น่าสนใจ

Rice O’ Clock เมนูข้าว ๆ เช้ายันเย็น ของคนกินข้าวสีเข้ม

​ข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูก ผมเก็บไว้กินเองทุกวัน เพราะมันอร่อยที่สุด

วิตามินรวมในรูปของข้าวอบเห็ดและสลัดผักย่าง

ครอบครัวเรา กินข้าวหม้อเดียวกัน ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ หุงหม้อเดียว กินดีทุกวัย

สงสัยไหมว่าทำไมข้าวที่เรากิน ถึง ‘นุ่ม’ ไม่เท่ากัน