Responsive image Responsive image

ชาวนาได้อะไร? เมื่อปลูกข้าวให้ศาลานา

10 กันยายน 2564



ชาวนาไทยมีชีวิตยากลำบาก ไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้ที่รัดตัว หรือคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นชาวนา เพราะมองไม่เห็นอนาคต เหล่านี้คือปัญหาที่เรารู้กันดี ขณะเดียวกัน กระแสเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อว่าจะช่วยเหล่าชาวนาและเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้ บางครั้ง ก็ถูกบอกเล่าเพียงความสวยงามด้านเดียว จนทำให้เราลืมว่าปัญหานี้ ต้องการคำตอบที่ครบมุม 
 
เพราะได้เข้าไปคลุกคลีและทำงานจิตอาสาเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์มากว่าสิบปีของ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จึงมองเห็นทั้งด้านเกื้อกูลธรรมชาติที่งดงาม และปัญหาที่เกษตรกรต้องแบกรับเมื่อปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาสู่การวิถีปลอดเคมี เมื่อตั้งต้นอยากแก้ปัญหาให้เกษตรกรไทย การขับเคลื่อนจึงต่อยอดมาเป็น ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และ แบรนด์ศาลานา เพื่อเป็นคำตอบให้เหล่าชาวนาไทย

ชาวนาไทยได้อะไร? เมื่อมาอยู่ในศาลานา โมเดล
 
ต้องเล่าก่อน ว่ารูปแบบการขับเคลื่อนโครงการศาลานาที่มีชื่อว่า ศาลานา โมเดล คือการทำงานร่วมกันของมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา และ ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ที่แบ่งส่วนงานกันชัดเจน ฝั่งมูลนิธิเน้นการส่งเสริม “พัฒนาศักยภาพเกษตรกรมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน” ผ่านการให้องค์ความรู้ พัฒนาระบบกองทุน พัฒนาเครื่องมือแปรรูป สร้างช่องทางการตลาดที่หลากหลาย รวมไปถึงการพัฒนาระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เมื่อทำงานเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งได้ ทางศาลานาก็จะรับไม้ต่อในงานด้านสนับสนุน ทั้งการผลักดันสินค้า พัฒนาช่องทางการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค คู่ขนานกับการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวนาได้ค่อย ๆ แก้ปัญหาที่ฝังราก และเติบโตต่อได้ในแบบที่ควรจะเป็น
ไม่เพียงซื้อข้าวมาขายต่อ แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรได้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งคุณภาพ การจัดการ หรือแม้แต่การเป็นผู้ประกอบการเองในอนาคต นั่นคือเกษตรกรสามารถหาวิธีสร้างรายได้หรือทำตลาดอื่น ๆ ไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องผูกขาดขายข้าวกับเราเท่านั้น



ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ชาวนาไทยทำงานอย่างไรกับศาลานา
 
หากต้องเล่าเส้นทางทั้งกระบวนการ ก็คงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ลงพื้นที่ไปเพื่อหาคำตอบว่าเกษตรกรต้องการการสนับสนุนในรูปแบบใด เพราะแต่ละกลุ่มก็มีต้นทุนเดิมและบริบทแตกต่างกัน บางกลุ่มปลูกอินทรีย์อยู่แล้ว แต่ไม่มีตลาด บางกลุ่มต้องการกองทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจที่ดีของกลุ่ม บางกลุ่มต้องเริ่มตั้งแต่ให้ความรู้ แนะนำพันธุ์ข้าว วิธีการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี บางกลุ่มมีระบบมาตรฐานของตัวเอง บางกลุ่มเริ่มต้นเรียนรู้ไปกับมาตรฐาน SALANA PGS ซึ่งก็คือการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่ศาลานาพัฒนาขึ้นโดยใช้แนวทางจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติมาปรับใช้ เพื่อเป็นมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพสินค้าอินทรีย์ ทั้งฝั่งเกษตรกรผู้ผลิต และความมั่นใจกับผู้บริโภค
 
จากนั้น ก็มาถึงขั้นตอนจับคู่ธุรกิจกับศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เพราะหากส่งเสริมแต่ความรู้โดยไม่จับคู่ธุรกิจ เกษตรกรก็ขยับไปข้างหน้าลำบาก ซึ่งการ Business matching นี้ จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเป็นธรรมระหว่างกัน ทั้งราคาข้าว คุณภาพข้าว และหลักเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน ศาลานาซื้อในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ขณะที่เกษตรกรก็ส่งข้าวที่มีคุณภาพให้ศาลานาส่งต่อผู้บริโภคอย่างปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดเป็นการซื้อขายล่วงหน้าที่ชาวนาเบาใจ เพราะได้รับเงินก้อนแรก 30% ไปบริหารจัดการการเพาะปลูก ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเหมือนการทำนาแบบเดิม
 
หรือในกลุ่มที่มีความรู้ มีระบบมาตรฐาน และมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน มูลนิธิฯ ก็เข้าไปส่งเสริมให้แปรรูป หรือเป็นผู้ประกอบการเองได้ ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับนักวิชาการเข้าไปพัฒนาการแปรรูป รวมทั้งได้ร่วมกับนักวิชาการในการวิจัยเชิงนวัตกรรมการสกัดผงผิวข้าวสีเข้มจากข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ ให้มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และให้ศาลานาต่อยอดสร้างเครื่องดื่มพร้อมชง Antho - Plus+ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า พร้อม ๆ กับการสร้างคุณค่าได้อีกทอดหนึ่ง
 
หรือบางกลุ่มที่มองศักยภาพตัวเอง ว่าสามารถไปตลาดต่างประเทศได้ และมีความมุ่งมั่นให้ได้การรับรองในมาตรฐานสากล ทางมูลนิธิฯ ก็สนับสนุน เพื่อให้กลุ่มผลักดันสมาชิกได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยสามารถมีทุนในการทำมาตรฐานอย่างต่อเนื่องได้ด้วยกลุ่มเองเพราะเกษตรอินทรีย์จะเป็นคำตอบที่ถูกต้องได้ ก็เมื่อเกษตรกรมีระบบเศรษฐกิจที่ดีด้วย
 
และนั่นคือสิ่งที่ชาวนาไทยจะได้ เมื่อปลูกข้าวและร่วมมือไปด้วยกันกับศาลานา


 



เรื่องที่น่าสนใจ

ดื่ม ‘ข้าว’ กันไหม? จากวัฒนธรรมดื่มน้ำข้าว สู่นวัตกรรมชงดื่มง่ายเพื่อผู้สูงวัย

แจกสูตร 3 เมนูของว่างจากข้าวอินทรีย์ เพิ่มคุณค่าให้ของว่างยามบ่าย ด้วยข้าวดีที่ศาลานาภูมิใจ

“ไม่มีใครบอกว่าคนสูงวัยต้องอยู่กับบ้าน เที่ยวไม่ได้ เราจะรู้ตัวของเราเองว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน ถ้าเรายังรอ เราอาจจะพลาดโอกาส ป้าเกษสนับสนุนให้คนใช้ชีวิตตามใจตัวเอง รักตัวเอง สิ่งไหนทำแล้วมีความสุข ทำเลย สูงวัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่บ้านหรอก”

ข้าวเอเชียเหมือนกัน แต่สั้น-ยาว-ใหญ่ ไม่เท่ากัน รูปพรรณสัณฐานของข้าว บอกอะไรเราบ้าง

ข้าวแข็งไม่ชอบ ข้าวไม่หอมขอบาย มีรสสัมผัสของข้าวที่ใช่เป็นธงในการให้คะแนน กว่าจะกินข้าวได้สักจาน