Responsive image Responsive image

ทำไมศาลานาถึงเชื่อมั่นใน Smart Farmer

27 ตุลาคม 2564



แม้ความเชื่อที่ว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่ลำบาก จะหยั่งรากลึกในสังคมไทยมาเนิ่นนาน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นแรงหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงและท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกใบนี้ ยังมีโอกาสและหนทางอีกมากที่เราสามารถร่วมกันสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงให้กับอาชีพเกษตรกร

อย่างทุกวันนี้เรามองเห็นลูกหลานรับช่วงต่อที่นาของคนรุ่นพ่อแม่ หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ทุ่มเทผลิตพืชผลส่งขายในตลาดเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะเห็นแนวโน้มผู้บริโภคที่ให้คุณค่ากับการกินดี แถมการทำเกษตรอินทรีย์ ยังดีต่อสุขภาพร่างกายคนปลูกและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย

การผลักดันพี่ ๆ น้อง ๆ เกษตกรที่เชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์กลุ่มนี้ สู่การเป็น ‘Smart Farmer’ สำหรับศาลานาแล้ว ถือเป็นย่างก้าวสู่ความยั่งยืนก้าวเล็ก ๆ ทว่ามีบทบาทสำคัญมากทีเดียว

Smart Farmer ในความหมายของศาลานา

การสร้างความยั่งยืนในวิถีชีวิตโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ ต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง นี่คือเหตุผลที่ศาลานาและมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ทำงานกับเกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการปลูกข้าว ยาวมาจนถึงวันที่เมล็ดข้าวถูกส่งถึงมือคนกิน

ในกรอบการทำงานของ ศาลานา โมเดล นอกจากจะผลักดันระบบ ‘เกษตรวิถีธรรมชาติ’ ให้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างแข็งแรงแล้ว เรายังเชื่อในเรื่องของการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็น ‘นักบริหารฟาร์มเกษตรวิถีธรรมชาติ’ พูดง่าย ๆ คือการติดเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘การเป็นผู้ประกอบการ 101’ ให้กับเกษตรกรนั่นเอง

เพราะทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ที่ประกอบด้วยการรู้จักจัดสรรทรัพยากร ใช้สิ่งที่ตัวเองมีให้คุ้มค่า การมองเห็นจุดแข็งและจุดเด่นของฟาร์มตัวเอง การเข้าร่วมเครือข่ายที่คิดตรงกันและสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ หรือแม้กระทั่งการฟังเสียงผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจตลาด จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาผลักดันศักยภาพของตัวเองให้ไปไกลกว่าเดิม

นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแปรรูปผลิตข้าวอินทรีย์ จากการหยิบองค์ความรู้ผนวกกับนวัตกรรมการแปรรูป พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตรงใจกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม Antho-PLUS+ ที่เริ่มต้นจากงานวิจัยแอนโทไซยานินในข้าวสีเข้ม ที่ทางมูลนิธิฯ ทำร่วมกับนักวิชาการ ข้าวมะลินิลสุรินทร์ที่ปลูกโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นข้าวที่มีแอนโทไซยานินสูง ทางฝั่งมูลนิธิฯ จึงรับหน้าที่สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ฝั่งศาลานาเองก็ช่วยต่อยอดผลผลิตเหล่านั้นให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมออกสู่ตลาด

หากเกษตรกรประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ ‘พ่อค้า’ กับการทำเกษตรของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์เมื่อไหร่ ระบบเกษตรวิถีธรรมชาติที่พวกเขาเลือกที่จะเชื่อมั่น อาจนำมาซึ่งผลกำไรที่ทัดเทียมกับระบบเกษตรอุตสาหกรรม ที่ครั้งหนึ่งเท้าของพวกเขาเคยยืนอยู่ได้อย่างแน่นอน

และนี่คือเหตุผลที่ศาลานาวางรูปแบบในการทำธุรกิจ ที่เอื้อให้พี่ ๆ น้อง ๆ เกษตรกรสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และเรียนรู้ไปกับเราได้อย่างใกล้ชิด
 



เรื่องที่น่าสนใจ

That’s RICE for you เลือกกินข้าวที่ใช่ ให้เข้ากับคุณ

ทำไมอำนาจในการตัดสินใจ ‘เลือก’ กินข้าว ต้องอยู่ในมือประชาชน

เข้าใจเรื่องข้าวแบบเน้น ๆ กับนักโภชนาการ แววตา เอกชาวนา

ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน?

ข้าวที่เรากินอยู่ทุกวันคือพืชที่มีชีวิต แม้แต่หลังเก็บเกี่ยวแล้ว เมล็ดข้าวก็ยังเปลี่ยนแปลงตามเวลา นั่นทำให้เส้นทางของข้าวตั้งแต่นาสู่จานมีจังหวะเวลาเฉพาะตัวที่สัมพันธ์กับฤดูกาล