Responsive image Responsive image

เมนูของว่างจากข้าวศาลานา

20 เมษายน 2565

แจกสูตร 3 เมนูของว่างจากข้าวอินทรีย์
เพิ่มคุณค่าให้ของว่างยามบ่าย ด้วยข้าวดีที่ศาลานาภูมิใจ

 


ข้าวมะลินิลสุรินทร์จากศาลานา นอกจากจะเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตให้ประโยชน์สูงในมื้ออาหารหลักแล้ว ยังสามารถประยุกต์เป็นเมนูของว่างกินระหว่างวันได้อีกด้วย แถมการทำเมนูของว่างของหวานกินเองที่บ้าน เราสามารถกำหนดความอร่อยและความเฮลท์ตี้ด้วยตัวเองได้ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และการคุมปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไป ได้กินของว่างที่เฮลท์ตี้และสนุกกับครัวที่บ้านมากขึ้น ประโยชน์สองเด้งขนาดนี้ หยิบข้าวมะลินิลสุรินทร์ที่มีติดครัวมาเตรียมไว้ และเริ่มลงมือทำไปพร้อมกันเลย
 


เมนูที่ 1: ข้าวไข่พระอาทิตย์
เมนูเรียบง่ายที่เต็มไปด้วยสารอาหารดี ๆ จากข้าวสีเข้ม

 
หลาย ๆ บ้านมักมีข้าวหุงสุกที่เหลือจากมื้อเย็นวันก่อน แม้ข้าวมะลินิลสุรินทร์ของศาลานาจะเป็นข้าวซ้อมมือที่ยังมีเมล็ดหุ้มบางส่วนเหลืออยู่ การเก็บข้ามคืนหรือนำออกจากตู้เย็นมาอุ่นซ้ำ เนื้อสัมผัสของข้าวก็ยังนิ่ม และคุณประโยชน์บนเมล็ดหุ้ม โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน วิตามิน และใยอาหารก็ยังคงอยู่ครบครัน เมนูข้าวไข่พระอาทิตย์ที่เด็ก ๆ กินได้ ผู้ใหญ่กินดี เป็นได้ทั้งมื้อเช้าที่หยิบข้าวเหลือมาเพิ่มความอร่อย หรือของว่างยามบ่ายที่ช่วยให้อิ่มท้องก็ได้เช่นกัน
 
ส่วนผสม
ข้าวมะลินิลสุรินทร์หุงสุก, ไข่ไก่, ซีอิ๊วขาว หรือน้ำปลา, น้ำมันพืช

วิธีทำ

  1. ตอกไข่ไก่ลงในถ้วย ปรุงรสตามชอบ ตีส่วนผสมให้เข้ากัน
  2. ตักข้าวมะลินิลสุรินทร์ที่หุงแล้วใส่ลงไป คนให้ไข่เคลือบข้าวจนทั่ว
  3. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเล็กน้อย ตักส่วนผสมลงไปทอด พลิกให้สุกเท่ากันทั้ง 2 ด้าน เพียงเท่านี้ ไข่พระอาทิตย์ก็พร้อมให้เราลิ้มรสความอร่อยแล้ว
 


เมนูที่ 2: ข้าวซ้อมมือกะทิสดรสนวล
เพิ่มความเฮลท์ตี้ให้ของหวานตำรับดั้งเดิมด้วยข้าวมะลินิลสุรินทร์
 

เชื่อว่าของหวานตำรับดั้งเดิมอย่าง ‘ข้าวเหนียวมูนกะทิสด’ ที่ไม่ว่าจะกินกับท็อปปิ้งง่ายๆ อย่างข้าวโพด เนื้อมะพร้าว หรือแอดวานซ์เป็นเนื้อมะม่วงสุก คงจะเป็นเมนูของหวานขวัญใจใครหลาย ๆ คนแน่นอน แต่ก็ด้วยส่วนผสมอย่างข้าวเหนียว น้ำตาล และกะทิ เหล่าผู้สูงอายุหรือคนรักสุขภาพจึงกินเมนูนี้ได้ไม่บ่อยเท่าที่ใจต้องการ
 
แต่ถ้าอดใจไม่ไหวจริง ๆ ศาลานาก็อยากชวนคุณเข้าครัวฝึกฝีมือ เปลี่ยนเมนูหวานมันนี้ให้เฮลท์ตี้มากขึ้นอีกนิดด้วยข้าวมะลินิลสุรินทร์ซ้อมมือที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวเหนียว ไม่ว่าจะหยิบไปทำเมนูไหนก็ดีต่อสุขภาพคนทุกเพศทุกวัย
 
ส่วนผสม

ข้าวมะลินิลสุรินทร์, กะทิ, ใบเตย, เกลือ, แป้งท้าวยายม่อม, แป้งมัน, น้ำตาลทราย, ข้าวโพดสำหรับตกแต่ง

วิธีทำ
  1. แช่เมล็ดข้าวมะลินิลสุรินทร์ในน้ำอุณหภูมิห้อง 2-3 ชั่วโมง
  2. ทำกะทิรสนวล ๆ หยอดหน้าขนม ตั้งหม้อด้วยไฟอ่อน เติมน้ำกะทิ ¾ ของปริมาณที่เตรียมไว้ ตามด้วยใบเตย และเกลือตัดรส ระหว่างนี้ให้ผสมน้ำกะทิส่วนที่เหลือเข้ากับแป้งท้าวยายม่อมและแป้งมัน เมื่อน้ำกะทิในหม้อเดือด ค่อยใส่น้ำกะทิที่ผสมแป้งลงไปเคี่ยวต่อจนเหนียว จากนั้นค่อยยกออกจากเตา
  3. ใส่เมล็ดข้าวที่แช่น้ำแล้วลงในน้ำเดือด ต้มจนกว่าเมล็ดข้าวสุกและเริ่มบาน
  4. เติมน้ำตาลทราย หรือจะเลือกเป็นน้ำตาลธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสุขภาพอย่างน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด คนจนน้ำตาลละลายหมด เคี่ยวจนน้ำงวดและเหนียวข้น จากนั้นค่อยเติมข้าวโพด คนส่วนผสมให้เข้ากัน
  5. จัดเสิร์ฟในถ้วย ราดหน้าข้าวสีม่วงเข้มด้วยน้ำกะทิ
 


เมนูที่ 3: นมข้าวผสมอบเชย
เติมเสน่ห์ให้เครื่องดื่มจากนมข้าวอินทรีย์ด้วยสมุนไพรกลิ่นตรึงใจ

 
ทำของว่างของหวานอิ่ม ๆ ไปแล้ว ศาลานาขอปิดท้ายด้วยสูตรเครื่องดื่มนมข้าวเบา ๆ ที่ให้ประโยชน์จากข้าวมะลินิลสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็นผิวข้าวสีม่วงเข้มที่มีแอนโทไซยานิน วิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย พร้อมด้วยแคลเซียมจากนมสด และประโยชน์จากสมุนไพรกลิ่นหอม ๆ อย่างอบเชย ที่ช่วยขับลม ลดความดันโลหิต และควบคุมไขมันในเส้นเลือด เหมาะกับผู้สูงอายุในบ้าน
 
ส่วนผสม

ข้าวมะลินิลสุรินทร์หุงสุก, ก้านอบเชย 1-2 ก้าน, นมสด, น้ำผึ้ง

วิธีทำ
  1. ใส่ข้าวมะลินิลสุรินทร์หุงสุก และก้านอบเชยลงในหม้อ เติมน้ำร้อนให้ท่วม และพักทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง
  2. นำข้าวมะลินิลสุรินทร์มาปั่น กรองแยกน้ำข้าวและกาก
  3. ผสมน้ำผึ้ง นมสด และกากเข้าด้วยกัน ปั่นละเอียดและกรองแยกกากอีกครั้ง
  4. ผสมน้ำนมข้าวจากขั้นตอนที่ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน เพื่อความสดชื่น ควรแช่ให้เย็นก่อนดื่มนะ
 
นอกจาก 3 เมนูนี้แล้ว ศาลานาเชื่อว่า ข้าวมะลินิลสุรินทร์จากนาอินทรีย์ที่เราภูมิใจ สามารถเป็นวัตถุดิบที่ช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ให้กับเมนูของว่างของหวานได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะทำกินเองหรือแบ่งปันคนที่ห่วงใย ความอร่อยจากจานเหล่านั้น จะทำให้คุณภูมิใจกับรสมือของตัวเองได้อย่างแน่นอน
 
สั่งข้าวอินทรีย์ของศาลานาได้ที่ www.salanashop.com



เรื่องที่น่าสนใจ

ข้าวเอเชียเหมือนกัน แต่สั้น-ยาว-ใหญ่ ไม่เท่ากัน รูปพรรณสัณฐานของข้าว บอกอะไรเราบ้าง

รู้จักแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้าวสีเข้ม

เรื่องราวจีนปนไทยที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่เรากิน

​ข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูก ผมเก็บไว้กินเองทุกวัน เพราะมันอร่อยที่สุด

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?