Responsive image Responsive image

รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง l นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ชี้ (และทำ) ให้เห็นว่าทางรอดของชาวนาไทยคือการปลูกข้าวอินทรีย์

12 กันยายน 2562



รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง 
นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ชี้ (และทำ) ให้เห็นว่าทางรอดของชาวนาไทยคือการปลูกข้าวอินทรีย์


ที่ปรึกษาโครงการศาลานา นักวิชาการรัฐศาสตร์ และชาวนาผู้ขับเคลื่อนคุณค่าของข้าวอินทรีย์

หากลองพิมพ์ชื่อ รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ลงในกูเกิ้ล เราจะพบอาจารย์ประภาสในบทบาททางวิชาการเป็นอย่างแรก ตั้งแต่การเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้ขับเคลื่อนหน่วยปฏิบัติการวิจัยสังคมชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มากกว่าตำแหน่งทางวิชาการ จะได้เห็นว่าอาจารย์มีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับต้นข้าวและชาวนา นอกจากความสำคัญของชาวนาไทยที่ส่งผลเชิงสังคมอย่างมาก ลูกชาวนาจากตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมคนนี้คือผู้ขับเคลื่อนโฉนดชุมชนคลองโยง ซึ่งเป็นโฉนดชุมชนทางการแห่งแรกของประเทศไทย และยังคงแบ่งเวลากลับมาสู่รากตัวเองด้วยการกลับมาปลูกข้าวกินเองและทำการทดลองทฤษฎีในใจที่ตั้งสมมติฐานว่าการปลูกข้าวเคมีคุณภาพต่ำจะทำให้ท้ายที่สุดชาวนาอยู่ไม่รอด จึงชักชวนร่วมไม้ร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ ให้หันมาปลูกข้าวปลอดสารเคมีที่ช่วยลดต้นทุน และรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า ขึ้น 



ไม่เพียงเห็นความสำคัญของการปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี อาจารย์ประภาสยังสนใจการปลูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ นำไปสู่การเลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะตัว รสชาติดี แต่คนปลูกน้อยจนข้าวเหล่านี้ค่อย ๆ สูญหายจากท้องนา การปลูกข้าวพื้นเมืองจึงทั้งช่วยให้ได้ข้าวอร่อยถูกปาก รวมถึงช่วยอนุรักษ์ข้าวดั้งเดิมไม่ให้หายไป และ ‘ข้าวหอมนครชัยศรี’ ข้าวพื้นเมืองของนครปฐมที่รสดีคล้ายข้าวหอมมะลิ มีเอกลักษณ์ รวมถึงดูแลง่าย ไวต่อแสง และต้านโรคได้ดี ก็ได้กลับคืนผืนนานครปฐม เช่นเดียวกับข้าวพื้นเมืองอีกหลากสายพันธุ์ เช่น เหลืองหอม ทองระย้า ขาวพระยาชม ที่อาจารย์และเพื่อนร่วมนาช่วยกันตามหา เลยรวมไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจารย์ยังคงมุ่งมั่นและใช้เวลาอยู่กลางท้องนา เพราะตั้งใจจะปลูกข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ใหม่แบบนาปรัง โดยยังคงคุณภาพเอาไว้เต็มเมล็ด

ขณะที่ต้นข้าวในผืนนาบ้านเกิดค่อยๆ งอกงามขึ้นตามลำดับ อาจารย์ประภาสยังก้าวมาเป็นที่ปรึกษาของโครงการศาลานาในบทบาทของที่ปรึกษาหลัก และทำงานทั้งในโต๊ะการประชุมวิชาการ งานพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างเกษตรกรอินทรีย์คุณภาพ ไปจนถึงงานลงแปลงเก็บข้อมูลและพัฒนาพันธุ์ข้าวไปด้วยกันในฐานะชาวนาที่ไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ องค์ความรู้เรื่องข้าวอินทรีย์และข้าวพื้นเมืองจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่กับเหล่าเกษตรกรแห่งนครปฐม แต่ได้รับการเผยแพร่สู่เกษตรกรในวงกว้างต่อไป 


____________________
เรื่อง : ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ : ศาลานา



เรื่องที่น่าสนใจ

คุยกับภาคีเลือดใหม่ของโครงการศาลานาที่ทำนาเป็น ทำนาดี และทำนาเพื่อแบ่งปัน

โลกใบนี้มีเรื่องให้เด็ก ๆ เรียนรู้มากมาย ตั้งแต่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้อย่างไร

วิธีกินเพิ่มน้ำหนักของคุณแม่ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยในครรภ์แข็งแรง

เติมขุมพลังให้คนวัยทำงาน ด้วยการเลือกกินข้าวดี ๆ ของศาลานา

ขนมอุ่น ๆ ที่ได้ชิมข้าวไทยในรสและรูปลักษณ์ที่แตกต่าง